การอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “ดิจิทัล คิดส์ พลิกโฉมห้องเรียน (Digital Kids for the Flipped Classroom)” จังหวัดสุพรรณบุรี

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการยกระดับสมรรถนะวิชาชีพครูปฐมวัยมุ่งสู่การพัฒนาเพื่อความเป็นเลิศ หรือ Super Teacher โดยบูรณาการการเรียนการสอนในรายวิชาสัมมนาการศึกษาปฐมวัย หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ตามโครงการความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยการอบรมครั้งที่ 10 ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ซึ่งได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย ยอดมีกลิ่น ผู้ช่วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ วัชรากรณ์ เนตรหาญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูริพจน์ แก้วย่อง และอาจารย์ทินกร ชุณหภัทรกุล คณาจารย์จากกลุ่มเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หลักสูตรวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นวิทยากร บรรยายและจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ ดิจิทัล คิดส์ พลิกโฉมห้องเรียน (Digital Kids for the Flipped Classroom) กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำทักษะดิจิทัลไปใช้ในการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ให้กับเด็กปฐมวัย สามารถกระตุ้นการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัยเกิดความสนุก และเพลิดเพลิน ไม่น่าเบื่อหน่าย สามารถนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน และสามารถพัฒนาตนเองสู่ครูมืออาชีพได้เพื่อรองรับการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เข้าสู่พลเมืองยุคดิจิทัล โดยกิจกรรมในการอบรมประกอบด้วย
กิจกรรมที่ 1 การพัฒนาทักษะดิจิทัล (Digital Skills) ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาสมอง
กิจกรรมที่ 2 การเขียนโค้ดสร้างเสียงเพลงตามจินตนาการ เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักสังเกต สามารถออกเสียงตามทำนองเพลงและฝึกทักษะการใช้ภาษา
กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมกลุ่ม การบูรณาการทักษะดิจิทัลที่ 1 ถึง ทักษะดิจิทัลที่ 6 เพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย
ซึ่งกลุ่มผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ ครูผู้ดูแลเด็กจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จากจังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท อ่างทอง ลพบุรี และกาญจนบุรี รวม 149 คน จัดขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี สำหรับโครงการยกระดับสมรรถนะวิชาชีพครูปฐมวัยมุ่งสู่การ พัฒนาเพื่อความเป็นเลิศ หรือ Super Teacher มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาครูผู้ดูแลในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูโรงเรียนอนุบาล และบุคลากร ทางการศึกษา ให้ เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในองค์กรแห่งการเรียนรู้ตามแนวทางของการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC)และสามารถนำความรู้ไปพัฒนาการของเด็กปฐมวัย โดยยึดหลักการการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญและสามารถนำกระบวนการที่เกิดจากการอบรมไปใช้ในชั้นเรียนได้จริง สามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนางาน ตระหนักรู้ถึงผลกระทบของสื่อเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อเด็กปฐมวัย และนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย